Accessibility Tools

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสิงห์บุรี
The Singburi Juvenile and Family Court
image

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสิงห์บุรี

คำถามที่พบบ่อยimage
1. การจดทะเบียนรับรองบุตรสำคัญอย่างไร?
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 ระบุว่า เด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ถือเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว ยกเว้นเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอย่างอื่น แต่เด็กจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาด้วยหรือไม่นั้น แม้ว่ากฎหมายได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า เด็กที่เกิดจากมารดาขณะที่อยู่กินกับชายผู้เป็นบิดา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชายด้วย แต่ก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น ยังจะต้องพิจารณาเงื่อนไขของกฎหมายหรือต้องดูข้อเท็จจริงอีกหลายประการ
ดังนั้นการจดทะเบียนรับรองบุตร จึงเป็นวิธีที่ทำให้บุตรนอกสมรสกลายเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายของบิดา แม้บิดาและมารดาจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันก็ตาม

2. เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้สมรสกัน จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อใด?

การที่เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ระบุแนวทางดำเนินการให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายกรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนี้
1.บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง ซึ่งมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด กรณีนี้เป็นวิธี ที่ง่ายที่สุดถ้าบิดาและมารดาของเด็กสมัครใจจดทะเบียนสมรสกันภายหลัง
2.บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ซึ่งมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด มี 3 วิธี คือ
        2.1 การจดทะเบียนรับรองบุตรในสำนักทะเบียน
        2.2 การจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียน
        2.3 การจดทะเบียนรับรองบุตรนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล
ขั้นตอนในการจดทะเบียน คือ บิดาต้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขต พร้อมทั้งแนบเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือแสดงความยินยอมของบุตร และหนังสือแสดงความยินยอมของมารดาของบุตรก่อนรับจดทะเบียน นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล เช่น บิดามารดา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนบ้าน เพื่อให้ได้ความจริงเสียก่อน กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อ ได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ดังนั้น เด็กและมารดาเด็กต้องให้ความยินยอมในการจดทะเบียนทั้งสองคน ซึ่งอาจมาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียนก็ได้ ในกรณีที่เด็กและมารดาไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนไปยังเด็กและมารดา ถ้าทั้งสองคนไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วันนับแต่ได้รับแจ้ง (ถ้าเด็กและมารดาอยู่ต่างประเทศให้ขยายเวลาเป็น 180 วัน) ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม
3.มีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตร กรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคนใดคนหนึ่งคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กเป็นผู้เยาว์ไร้เดียงสา มารดาเด็กถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นต้น การจดทะเบียนรับรองบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้ว บิดาก็สามารถนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนต่อไป เมื่อดำเนินการแล้วมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด
4.นอกจากนี้ยังมีกรณี การฟ้องคดีขอให้รับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีได้เฉพาะกรณี
        4.1.เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงอย่างผิดกฎหมาย
        4.2.เมื่อมีการลักพาหญิงไปในทางชู้สาว หรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิง
        4.3.เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรของตน
        4.4.เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดหรือสูติบัตรว่าเด็กเป็นบุตร โดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น
        4.5.เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินกันอย่างเปิดเผย
        4.6.เมื่อมีการร่วมประเวณีกับหญิงในระยะเวลาที่หญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิใช่บุตรของชายอื่น
        4.7.เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเด็กเป็นบุตรของชาย ซึ่งพิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันพ่อลูก เช่น การส่งเสียให้เล่าเรียน ให้การอุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้ใช้นามสกุลของชาย
3. ไม่จดทะเบียนรับรองบุตร มีผลอย่างไร?
เด็กเสียสิทธิ์ที่ควรได้จากบิดา เช่น การใช้นามสกุลบิดา หรือการรับมรดก
        • เรียกร้องให้บิดาจ่ายค่าเลี้ยงดูไม่ได้
        • แม้บิดาจะรับรองว่าเป็นบุตรนอกกฎหมาย (แต่ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร) หากจะรับมรดกของบิดาก็ยังต้องดำเนินการพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นบุตรที่แท้จริง
        • หากจะรับบำเหน็จตกทอดจากบิดาที่เป็นราชการและเสียชีวิต จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อน
        • หากบิดาเสียชีวิตจากการถูกผู้อื่นกระทำ บุตรจะไม่สามารถฟ้องร้องสิทธิ์หรือไม่มีอำนาจตัดสินใจให้ดำเนินการตามกฎหมายได้
        • บุตรและบิดาต่างใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไม่ได้
5. ระยะเวลาในการดำเนินการยื่นคำร้องรับรองบุตรต่อศาลใช้เวลานานไหม?
- ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องไม่น้อยกว่า 45 วัน นับแต่วันที่ยื่นคำร้อง
- ภายในเวลา 15 วัน ผู้ร้องต้องนำมารดาและบุตรไปให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการสถานพินิจฯ เพื่อรายงานข้อเท็จจริงเสนอความเห็นต่อศาลประกอบในการพิจารณาคำร้อง
- ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องพร้อมมารดาและบุตร นำเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในบัญชีพยาน เพื่อทำการไต่สวนคำร้อง
- เมื่อพ้นกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ผู้ร้องสามารถขอคัดสำเนาคำสั่งศาลโดยให้เจ้าหน้าที่รับรองและขอออกใบสำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด เพื่อนำเอกสารดังกล่าวยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อจดทะเบียนรับรองบุตรต่อไป
- ใช้ระยะเวลานับตั้งแต่ยื่นคำร้อง จนศาลมีคำสั่ง/พิพากษา ใช้เวลาประมาณ 60 วัน
6. เหตุที่จะฟ้องหย่าได้มีอะไรบ้าง?
เหตุที่จะฟ้องหย่าได้มี ๑๐ ประการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๑๖ มีดังต่อไปนี้ คือ
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณี กับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
        (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
        (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
        (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
        (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
        (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อน เกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
7. การฟ้องหย่ามีสิทธิเรียกร้องอะไรได้บ้าง?
สามารถเรียกร้องได้ดังต่อไปนี้
        1.เรียกค่าทดแทน หากฟ้องหย่าสามีหรือฟ้องหย่ากรรยา ด้วยสาเหตุว่าเป็นชู้หรือมีชู้ นอกจากจะสามารถฟ้องหย่าได้แล้ว ยังสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทน ได้จากตัวสามี ภรรยาคู่สมรส รวมทั้งตัวหญิงชู้หรือชายชู้ที่เป็นเหตุหย่าได้ หรือหากเรายังไม่ต้องการฟ้องหย่า ก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้แต่เพียงอย่างเดียวได้ เช่นกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523
        2.เรียกค่าเลี้ยงดูบุตร หากคู่สมรสมีบุตรด้วยกัน และบุตรอยู่ในความดูแลของฝ่ายที่ฟ้องหย่า ฝ่ายที่ฟ้องหย่าย่อมสามารถฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรตามสมควรไปพร้อมกับการฟ้องหย่าได้ด้วย ส่วนค่าเลี้ยงดูบุตรจะเรียกร้องได้เท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีไปครับ
        3.เรียกค่าเลี้ยงชีพ ถ้าเหตุหย่านั้นเกิดจากความความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น คู่สมรสฝ่ายหนึ่งไปมีชู้ หรือ ละทิ้งร้างคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คู่สมรสฝ่ายที่ฟ้องหย่าย่อมมีสิทธิฟ้องค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย ทั้งนี้สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพนั้น คู่สมรสจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเข้าไปในคดีหย่าเท่านั้น ถ้าไม่ได้ฟ้อง จะมาฟ้องหรือเรียกร้องภายหลังไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526
        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526         ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับและให้นำบทบัญญัติ มาตรา 1598/39 มาตรา 1598/40 และมาตรา 1598/41 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
สิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพเป็นอันสิ้นสุด ถ้ามิได้ฟ้องหรือฟ้องแย้งในคดีหย่านั้น
ทั้งนี้หากคู่สมรสฝ่ายที่ได้รับคำเลี้ยงชีพ จดทะเบียนสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพจะสิ้นไปทันที ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1528
        ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1528
        ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพย่อมหมดไป
        4.เรียกแบ่งสินสมรส ในคดีฟ้องหย่า คู่สมรสสามารถฟ้องแบ่งหรือเรียกร้องให้แบ่งสินสมรสไปพร้อมกันในคราวเดียวกันเลย เพียงแต่จะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมตามทุนทรัพย์ที่ขอแบ่ง โดยปกติแล้วเกือบทุกคดีที่มีสินสมรสด้วยกัน จะฟ้องแบ่งสินสมรสเข้าไปพร้อมคดีหย่าอยู่แล้ว เพราะทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยา เมื่อหย่ากัน ต้องแบ่งสินสมรสคนละส่วนเท่าๆกัน ตามป.พ.พ.มาตรา ๑๕๓๓ แต่เมื่อยังไม่ได้แบ่งกัน กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์รวม โดยถือว่าสามี ภริยาเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากัน
        หากหย่าแล้วสามีหรือภริยา ไม่ดำเนินการแบ่งให้ถูกต้อง หรือขายทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสนั้น ให้แก่บุคคลภายนอก โดยอีกฝ่ายไม่ได้ให้ความยินยอมด้วย แม้บุคคลภายนอกนั้นจะรับซื้อโดยสุจริต ก็ตาม ก็ไม่มีผลผูกพันกรรมสิทธิ์ในส่วนของอีกฝ่ายที่ไม่ได้ยินยอม ตาม ปพพ.มาตรา ๑๓๖๑ วรรคสอง ฝ่ายที่เสียหายจึงสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายสินสมรสระหว่างคู่สมรสฝ่ายนั้นและบุคคลภายนอกได้ โดยไม่มีกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๓๓๖
8. ฟ้องหย่าต้องใช้เอกสารหลักฐานอะไรบ้าง?
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องในคดี และต้องเตรียมมา มีดังนี้
1. ใบสำคัญการสมรส
2. สูติบัตรหรือทะเบียนบ้านของบุตรทุกคน กรณีมีบุตรด้วยกัน
3. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล ทั้งของสามีกรรยาและบุตร กรณีมีการเปลี่ยนชื่อนามสกุล
4. ทะเบียนบ้านที่สามี ภรรยา และบุตร พักอาศัยอยู่ด้วยกัน
5.สำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาพาสปอร์ตหนังสือเดินทางของตนเองและคู่สมรส (ของคู่สมรสไม่จำเป็นเท่าไหร่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร)
6. หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่จะฟ้องหย่า เช่น หลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรม line หรือ face book รูปถ่ายคู่สมรสกับชู้ คลิปเสียงหรือคลิปวิดีโอเหตุการณ์ต่างๆ เป็นต้น
7. หลักฐานเกี่ยวกับสินสมรส เช่น โฉนดที่ดิน สำเนาทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีผู้ถือหุ้น สมุดบัญชีธนาคาร เป็นต้น (เฉพาะกรณีที่มีประเด็นเรื่องการแบ่งสินสมรสด้วย)
8. หลักฐานเกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ เช่นหลักฐานการศึกษา การส่งเสียเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ (เฉพะคดีที่มีประเด็นเรื่องอำนาจปกครองบุตร)
ถ่ายสำเนาเอกสารอย่างละ 2 ฉบับ ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาความถูกต้องในเอกสารทุกฉบับ ส่วนเอกสารตัวจริงต้องนำมาในวันขึ้นศาลเท่านั้น
9. ข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่ต้องเตรียมมาในการฟ้องหย่ามีอะไรบ้าง?
ประวัติส่วนตัวของทั้งตัวคุณและคู่สมรส เช่น เป็นคนที่ไหน จบการศึกษาที่ไหน อาชีพอะไร พักอาศัยอยู่ที่ไหน ฯลฯ
- เริ่มรู้จักคบหากับคู่สมรสตั้งแต่เมื่อไหร่
- จดทะเบียนสมรสกันเมื่อไหร่
- อยู่กินกันมาที่ไหนบ้าง และปัจจุบันอยู่กินด้วยกันไหม
- มีบุตรด้วยกันไหม
- ใครเป็นคนเลี้ยงดูบุตร และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตร
- มีทรัพย์สินระหว่างสมรสด้วยกันหรือไม่
- สาเหตุที่จะฟ้องหย่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เล่าแบบละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ อาจจะพิมพ์เรื่องราวรายละเอียดดังกล่าวที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์และรวดเร็วในการจัดทำคำฟ้องหย่า
10. จะสามารถยื่นฟ้องหย่าได้ที่ศาลไหนได้บ้าง?
ต้องฟ้องที่ "ศาลเยาวชนและครอบครัว" เท่านั้น ส่วนสถานที่นั้นสามารถฟ้องได้ 2 สถานที่ด้วยกันคือ
        1.สถานที่ที่มูลคดีเกิด
        คำว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึงสถานที่ที่เกิดเหตุทำให้ฟ้องหย่านั่นเอง เช่น สถานที่ที่พบเห็นหรือเกิดการกระทำเป็นชู้ สถานที่ที่คู่สมรสทำร้ายร่างกาย สถานที่ที่เริ่มแยกกันอยู่ เป็นต้น หากว่ามูลคดีที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องหย่าเกิดขึ้นที่ไหนก็สามารถฟ้องคดีได้ที่ศาลนั้น เช่น เห็นการเป็นชู้ที่จังหวัดสิงห์บุรี ก็สามารถฟ้องหาได้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสิงห์บุรี แม้ว่าคู่สมรสจะอยู่กินกันที่จังหวัดอื่นก็ตาม
        2.สถานที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่
        คำว่า “ภูมิสำเนา” หมายถึงสถานที่ที่จำเลยมีที่อยู่เป็นประจำ หรือที่ปรากฎตามทะเบียนบ้าน
        คำว่าจำเลยในที่นี้ หมายความรวมถึงตัวคู่สมรสที่ฟ้องหย่า รวมทั้งตัวหญิงชู้หรือชายชู้ในกรณีที่ฟ้องชู้ด้วย เช่น สามีมีภูมิสำเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนหญิงชู้มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี เหตุการณ์ที่ คบชู้เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถฟ้องคดีได้ทั้งที่กรุงเทพฯซึ่งเป็นภูมิลำเนาของสามี รวมทั้งจังหวัดสิงห์บุรีที่เป็นภูมิลำเนาของหญิงชู้ และที่จังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นสถานที่มูลคดีเกิด
11. ระยะเวลาในการดำเนินการฟ้องหย่าต่อศาลใช้เวลานานหรือไม่ ?
เมื่อทนายความยื่นฟ้องต่อศาล ศาลจะนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ไม่น้อยกว่า 45 วัน หรือประมาณ 2 - 3 เดือน ขึ้นอยู่กับจำนวนคดีของแต่ละศาล
        กรณีจำเลยไม่มาศาลและไม่มาต่อสู้คดี นับแต่วันที่เริ่มฟ้องจนได้คำพิพากษาและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด เพื่อไปใช้จดทะเบียนหย่าที่ว่าการอำเภอ ประมาณ 3 เดือน
        กรณีจำเลยมาศาลและมาต่อสู้คดี ถ้าสามารถพูดคุยเจรจาตกลงกันได้ ใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือน นับแต่วันยื่นฟ้องจนได้จดทะเบียนหย่า แล้วแต่ว่าจะสามารถตกลงกันได้ช้าหรือเร็ว
        กรณีจำเลยมาศาลต่อสู้คดีและไม่สามารถตกลงกันได้ ใช้เวลาตั้งแต่ฟ้องคดีในศาลชั้นต้นจนมีคำพิพากษาประมาณ 6 - 9 เดือน และหากต่อสู้กันในศาลอุทธรณ์ - ฎีกา อาจใช้เวลา 6 เดือนถึง 2 ปี แล้วแต่กรณี
12. จะฟ้องหย่าสามีต่างชาติ หรือฟ้องหย่าภริยาต่างชาติ มีขั้นตอน กระบวนการ อย่างไรบ้าง?
การฟ้องหย่าชาวต่างชาติ ในกรณีที่เรามีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ หรือในกรณีที่คุณเป็นคนต่างชาติและต้องการฟ้องหย่าคู่สมรสชาวไทย มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนคล้ายกับการฟ้องหย่าคนไทยด้วยกันตามปกติแต่จะมีข้อกฎหมายและขั้นตอนที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมมา ก็คือ
        1.กฎหมายหย่าของประเทศคู่สมรส
พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพ.ศ.2481 ม.24 วางหลักไว้ว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า " หมายความว่าในคดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติ หรือคดีที่ชาวต่างชาติฟ้องหย่าคนไทย หรือชาวต่างชาติฟ้องหย่ากันเองในศาลของประเทศโทย โจกก์จะต้องนำสืบว่ากฎหมายของประเทศของสัญชาติโจทก์หรือจำเลยนั้น ไม่ขัดกับกฎหมายของประเทศไทย กล่าวคือจะต้องนำสืบว่า ตามกฎหมายของประเทศสัญชาติโจทก์หรือจำเลยนั้น ยอมให้ทั้งสองฝ่ายสามารถฟ้องหย่า หรือหย่าขาดจากกันได้ ทั้งนี้เพราะในบางประเทศที่เคร่งศาสนามาก คู่สมรสหากจดทะเบียนสมรสกันแล้ว จะไม่สามารถหย่าขาดกันได้เลย เช่นนี้ศาลไทยก็ไม่สามารถพิพากษาให้ทั้งสองฝ่ายสามารถให้ฟ้องหย่ากันได้
        แต่ส่วนใหญ่แล้ว ในปัจจุบันแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างผ่อนปรนความเคร่งครัดทางศาสนา และอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาด หรือฟ้องหย่ากันได้อยู่แล้ว ดังนั้นคุณจึงไม่ต้องกังวลข้อกฎหมายนี้แต่อย่างใด ส่วนสาเหตุการหย่านั้น ให้พิจารณาตามบทกฎหมายแห่งถิ่นที่ฟ้องหย่าคือตามกฎหมายแห่งประเทศไทยอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องไปพิจารณาถึงเหตุฟ้องหย่าของกฎหมายต่างประเทศ
        ตัวอย่างเช่น
ตามกฎหมายของประเทศไทยหากคู่สมรสแยกกันอยู่กันเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้ หากเราฟ้องหย่าคู่สมรสซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษแล้ว ตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ สมมุติว่าจะต้องแยกกันอยู่เกินกว่า 10 ปี ถึงจะฟ้องหย่าได้ เช่นนี้การพิจารณาเหตุในการฟ้องหย่า ให้พิจารณาเฉพาะตามกฎหมายไทยเท่านั้นกล่าวคือหากแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปี สามารถฟ้องหย่าได้แล้วไม่ต้องรอถึง 10 ปี ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557 , คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9681/2557 เป็นต้น
        2.การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
การฟ้องหย่าคู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ หากคู่สมรสนั้นยังพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือ มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย การฟ้องก็ไม่ต่างกับคดีทั่วไป กล่าวคือการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ก็สามารถขอให้ศาลส่งให้ตามภูมิลำเนาของจำเลยในประเทศไทยได้เลย แต่หากคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ และเดินทางกลับประเทศของตนเองไปแล้ว ไม่ได้อยู่อาศัยในประเทศไทย และไม่มีภูมิสำเนาอยู่ในประเทศไทยจะมีกระบวนการต้องส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปยังต่างประเทศ ผ่านกระบวนการของศาลเป็นวิธีพิเศษ พร้อมต้องแปลคำฟ้องเป็นภาษาตามสัญชาติของคู่สมรสด้วย ซึ่งกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากปกติประมาณ 5,000 บาทเป็นค่าแปลและค่าจัดส่งเอกสาร และอาจจะใช้เวลาทำการมากกว่าคดีปกติประมาณ 1-2 เดือน
13. ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลเท่าไหร่?
        คดีฟ้องหย่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราเพียง 200 บาทเท่านั้น และค่าธรรมเนียมการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้กับจำเลย อัตราการส่งหมายขึ้นอยู่ แต่ละศาลจะกำหนดมา แต่หากมีประเด็นเรื่องการแบ่งสินสมรส เพิ่มเติมเข้ามาด้วย ค่าธรรมเนียมศาลก็จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนเงินสินสมรสที่ต้องการฟ้องขอแบ่ง ส่วนใหญ่หากยอดทุนทรัพย์ของสินสมรสฟ้องแบ่งไม่เกิน 300,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมศาลไม่เกิน 1,000 บาท ยอดทุนทรัพย์ของสมรสที่ฟ้องแบ่งเกินกว่า 300,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ยื่นฟ้อง
        ทั้งนี้จำนวนเงินค่าธรรมเนียมศาลที่เสียไปนั้น หากทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ศาลจะคืนให้จำนวน 7 ใน 8 ส่วนของจำนวนเงินที่จ่ายไปหรือหากไม่สามารถตกลงกันได้มีการสืบพยานจนศาลตัดสินคดีไป ก็มีโอกาสที่ศาลจะสั่งให้ฝ่ายจำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่เราเสียไปให้กับทนายความ หรือศาลอาจจะสั่งว่าค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คือให้เป็นตกไปทั้งสองฝ่ายไม่ต้องจ่ายให้กันและกัน
14. ควรเลือกทนายความอย่างไรดี ?
คดีฟ้องหย่าโดยทั่วไปมี 2 แบบ
        1.คดีฟ้องหย่าแบบง่ายๆ
เป็นคดีที่ไม่มีความซับซ้อนยุ่งยาก เช่น ไม่มีประเด็นเรื่องแบ่งสินสมรส ไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจปกครองบุตร มีพยานหลักฐานเหตุหย่าชัดเจนยากที่จะโต้แย้งได้ กรณีแบบนี้ แนะนำให้เลือกใช้ทนายความที่อยู่ใกล้ตัว และคิดค่าทนายความที่เหมาะสมไม่สูงจนเกินไป จะดีที่สุดเพราะคดีแบบนี้เป็นคดีค่อนข้างง่าย ทนายความที่ไม่ต้องมีประสบการณ์มากนัก ก็สามารถดำเนินการให้ได้
        2.คดีฟ้องหย่าแบบซับซ้อน
เป็นคดีที่มีข้อยุ่งยาก เช่น เหตุหย่ายังไม่ค่อยชัดเจน หรือมีประเด็นต้องถกเถียงกันเป็นจำนวนมาก หรือมีประเด็นแบ่งสินสมรส หรืออำนาจปกครองบุตรที่ซับซ้อน หรือมีประเด็นเรื่องการเรียกค่าทดแทนค่าเลี้ยงชีพ หรือประเด็นอื่นด้วย กรณีแบบนี้แนะนำให้ใช้ทนายความที่มีประสบการณ์และมีความสามารถเฉพาะทางในเรื่องการฟ้องหย่า การว่าจ้างก็อาจมีราคาสูง แต่ขึ้นอยู่ที่เราตกลงกันและความพอใจทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ หากเราต้องการทนายความแต่ไม่มีเงินจ้าง สามารถยื่นคำแถลงขอให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 158 ในกรณีคู่ความไม่มีทนายความจะขอให้ศาลแต่งตั้งให้ก็ได้ ทนายความซึ่งศาลแต่งตั้งให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบที่ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด โดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
        สรุป
        การฟ้องหย่า ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป เพียงคุณมาพบขอคำปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายประจำศาล หรือ นิติกร กลุ่มงานบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสิงห์บุรี เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง เตรียมข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่างๆตามที่ร้องขอ หาข้อมูลหรือเหตุในการหย่าของคุณให้ชัดเจน ไปขึ้นศาลเพียงไม่กี่ครั้ง จนศาลมีคำพิพากษาก็จะสามารถไปดำเนินการจดทะเบียนการหย่าต่อเจ้าหน้าที่ทะเบียนได้
15. การขอรับเงินต่างๆต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?
1.หน้าสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้มีสิทธิรับเงิน
2.แบบแจ้งความประสงค์โอนเงิน
16. เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วการขอรับเงินเช่น ค่าเสียหาย ค่าธรรมเนียมที่ศาลสั่งคืนจะได้รับเงินภายในกี่วัน?
ไม่เกิน 10 วันทำการ นับจากศาลมีคำสั่ง
17. การชำระเงินค่าฤชาธรรมเนียม/เงินอื่นๆ สามารถชำระโดยวิธีใดได้บ้าง?
เงินสด บัตรเครดิต บัตรเดบิต ผ่านเครื่องชำระเงิน EDC
18. การไกล่เกลี่ยคืออะไร มีข้อดีอย่างไร ?
        การไกล่เกลี่ยคือการระงับข้อพิพาท (คดีทางแพ่ง) โดยมีผู้ประนีประนอม ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้กับคู่ความ โดยทำหน้าที่เป็นคนกลาง ช่วยหาทางออก และยุติข้อพิพาท ด้วยการฟังความต้องการของคู่ความ โดยอาศัยความสมัครใจและความเต็มใจตลอดกระบวนการไกล่เกลี่ย หากคู่ความตกลงกันได้ ก็อาจมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้กับคู่ความ โดยคู่ความพอใจและเต็มใจที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น กระบวนการไกล่เกลี่ยมิใช่การที่ศาลออกพิจารณาคดีฟังพยานหลักฐาน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงในคดี ดังนั้นคู่ความ จึงสามารถยุติการไกล่เกลี่ยได้ตลอดเวลา หากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นที่พอใจ เพื่อส่งสำนวนคดีให้ศาลพิจารณาสืบพยานและพิพากษาคดีต่อไป
        ข้อดีของการไกล่เกลี่ย คือ สะดวก รวดเร็ว ประหยัด ไม่จำเป็นต้องมีทนายความ ไม่ต้องอาศัยพยานหลักฐานในการหาข้อเท็จจริง หากไกล่เกลี่ยสำเร็จ อาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือถอนฟ้องคดี
        ซึ่งการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาลนั้น มีทั้งการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง และการไกล่เกลี่ยในชั้นพิจารณาคดี